วัดอินทร์(หลวงพ่อโต)

วันหนึ่ง...ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนชวนให้ไปเป็นเพื่อนเพื่อไปหาพระสงฆ์รูปหนึ่งที่วัดอินทร์ พอดีช่วงนั้นว่างก็เลยได้ทำหน้าที่เป็นสารถี ซึ่งแต่เดิมนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะได้เห็นองค์ปฎิมากรรม สถานที่อันร่มรื่นและสิ่งตื่นตาตื่นใจ เพราะจากที่ได้คุยโทรศัพท์เพื่อนได้แจ้งว่าวัดที่จะไปนั้นอยู่แถวบางขุนพรหม ทำให้คิดไปว่าคงเป็นวัดอย่างทั่วไปที่เคยได้เข้าไปสักการะ

ต่อเมื่อได้เข้าถึงบริเวณวัด ก็นำความแปลกใจมาให้ว่า ถึงแม้พื้นที่จะไม่กว้างมากนัก เหตุเพราะอาจอยู่ในบริเวณที่เรียกได้ว่าเป็นที่ชุมชน แต่สถานที่ภายในกลับสามารถก่อสร้างองค์พระสูงใหญ่ และมีสถานที่ที่ร่มรื่นพอสมควร

จากที่เห็นสถานที่ภายในได้ถูกจัดแต่งแยกออกเป็นสามส่วน ในส่วนด้านซ้ายเป็นกุฏิของเหล่าสงฆ์ที่ได้ปลูกเป็นเรือน นอกจากนี้มีอาคารที่ทำการอีกสอง-สามหลัง ส่วนกลางจัดทำเป็นที่จอดรถไว้ส่วนหนึ่ง มีการแบ่งส่วนเป็นศาลาประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้อีกส่วนหนึ่ง

ศาลาแต่เดิมทำเป็นเก๋งอย่างจีน ต่อมาคงต่อเติมทำหลังคาเพิ่มเพื่อบังแดดให้กับผู้เข้าสักการะ เพราะตั้งเสาเหล็ก มุงหลังคาอย่างเรียบง่าย ภายในศาลาเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระอวโลติเกศวร
"พระแม่กวนอิม" มีมังกรพันเสาสี่ต้นโดยรอบ เพดานเจาะช่องแปดเหลี่ยมเขียนรูป"โป๊ยเซียน"

องค์ปฎิมากรรมเป็นกระเบื้องเคลือบผิวมันมีฐานเป็นรูปดอกบัว ทรงปางประทานพร สังเกตโดยรอบฐานมีผู้ศรัทธานำเทวรูปองค์เล็กมาวางอยู่หลายรูป อดแปลกใจอยู่ว่าเคยเห็นแต่เมื่อบนบานศาลกล่าวแล้วสำเร็จในคำอธิฐาน คนไทยมักนิยมถวายเป็นรูปช้างบ้าง ม้าบ้างแล้วแต่ได้อธิฐานจิต หากแต่ที่นี่ไม่พบเห็น กลับมีองค์เทวรูปภาคปางอื่นๆมาวางไว้พอสมควร

ด้านข้างของศาลาที่ประดิษฐานองค์พระแม่กวนอิม มองไปทางซ้ายยังมีศาลาเล็กย่อมอีกศาลาหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานของรูป"พระสังฆจาย" และ"ฮก ลก ซิ่ว" ซึ่งต่างก็เป็นที่นับถือสักการะของคนจีน ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงบริเวณบางขุนพรหมนี้คงมีคนจีนอาศัยอยู่โดยทั่วไป และเช่นเดียวกัน ตัวศาลาประดับเสาด้วยมังกรพันอยู่โดยรอบ หลังคาศาลาเขียนภาพอย่างจีนเป็นรูปเทพ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีชื่อว่าอย่างไร หันซ้ายแลขวาก็ไม่สามารถหาคนสอบถามได้

ซักพักเห็นชาวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามาในบริเวณวัด ทำให้นึกขึ้นมาไม่ได้ว่า ดูเถอะเขาอยู่ไกลต่างบ้านต่างเมืองยังขวนขวายมาชม เราแท้ๆอยู่ที่กรุงเทพฯมาแต่เกิด แต่เพิ่งได้เข้ามาเหยียบสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เอาเมื่อวันนี้นี่เอง

เดินต่อไปอีกนิด ก็ได้เห็นอาคารหลังหนึ่งก่ออิฐถือปูน สังเกตได้ว่าเป็นทรงแปดเหลี่ยม มีหลังคาอย่างเก๋งจีน ตรงนี้ก็คงเป็นวัฒนธรรมจีนเข้ามามีอิทธิพล เพราะไม่ค่อยได้พบศิลปะอย่างไทยแท้ที่ออกแบบให้สถานที่เป็นทรงแปดเหลี่ยม เห็นมากที่สุดก็เพียงเล่นมุมทำมุข มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมโดยรอบ ที่เห็นมักเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งก็ถือเป็นต้นไม้คู่วัด นอกจากนั้นแล้วที่ออกเห็นเสียดายอยู่ไม่น้อยคือการจัดวางถังขยะ กว่าจะได้ภาพอาคารหลังนี้มาก็วิ่งหามุมถ่ายภาพจนเหงื่อตก เพราะแทบทุกประตู จะมีการวางภาชนะเป็นถังสีเหลืองสดเด่นชัดไว้บริการผู้มาเยือนให้ทิ้งปฏิกูล ตรงนี้ก็เห็นใจทั้งทางวัด และออกจะนึกตำหนิฆารวาสผู้มาเยือนไม่ได้ ที่ทำให้ทิวทัศน์ลดความสง่าลงไปเยอะ หากสามารถร่วมแรงร่วมใจเดินไปอีกซักหน่อย ไปทิ้งในที่ห่างไกลอีกสักนิด อะไรๆคงดูสวยสดงดงามมากกว่าเอาสะดวกเข้าว่าอย่างที่เห็น

เดินอ้อมไปอีกสักหน่อยจะเห็นพระพุทธรูปทองเหลืองประดิษฐานอยู่ มีอิฐโบกปูนเห็นฉากหลัง รูปนี้ยอมรับว่าจนปัญญาในการหลบสายตาให้พ้นจากถังขยะพลาสติกที่ว่า นอกจากนี้ยังเห็นพ่อค้าแม่ขายซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นคนของวัดหรือไม่ มากางร่มสีหม่นและบริการดอกไม้เพื่อไว้สักการะพระพุทธรูป อันเป็นการบดบัง และทำลายทัศนียภาพอย่างหมดสิ้น แต่ก็พยายามคิดในทางที่ดีว่าหากเป็นคนของวัด วัดจะได้มีรายได้ และเอาใจเข้าข้างต่อไปว่าสถานที่เล็กไม่อำนวยจึงไม่สามารถหลบไปขายยังบริเวณอื่นอีกได้...

 หลังจากได้ทำการสักการะพระพุทธรูปกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เดินอ้อมด้านหลังไปอีกเล็กน้อยก็ได้พบกับรูปหล่อโลหะขององค์สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรสี ปิดทองคำเปลว พอดีได้พบกับคนดูแลสถานที่ได้รับคำบอกเล่าว่า "ที่นี่มีการเปิดเทปคำสวดพระคาถาชินบัญชร ผู้สัทธาสามารถเข้าสักการะองค์เหมือนของสมเด็จพุฒาจารย์โตได้ด้านในอาคาร" ถึงตรงนี้ก็รู้สึกปิติอย่างยิ่ง ไม่เสียแรงและเสียดายเวลาที่มาทำหน้าที่สารถีเลย เหมือนเป็นบุญอย่างหนึ่งที่ได้มีโอกาสนี้ เพราะนานแล้วเหลือเกินที่เราเองก็สวดพระคาถาชินบัญชร แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะได้เข้ากราบสักการะองค์เหมือนในสถานที่ที่ท่านเคยได้อยู่จริงเช่นครั้งนี้... สังเกตในภาพจะเห็นถังขยะสีเหลืองโปรยอยู่เสียทุกแห่งทุกมุมจริงๆ!!!

เดินอ้อมไปอีกหน่อยจะพบประตูทางเข้าด้านในของตัวอาคารหลังนี้ สัมผัสแรกที่เข้าไปภายในเปิดเครื่องปรับอากาศ เย็นสบายผิดกับอากาศภายนอกซึ่งอุณหภูมิค่อนข้างร้อนจนได้เหงื่อ เสียงเทปคำสวดพระคาถา"ชินบัญชร"กระทบเข้าโสตประสาท ทำให้รู้สึกต้องสำรวมมากยิ่งขึ้นจากแต่เดิมที่เป็นมา ภาพด้านหน้ายังความตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก เพราะกลางห้องเป็นบ่อน้ำมนต์ขนาดใหญ่ มีรูปเหมือนขี้ผึ้งขององค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรสีประดิษฐานท่าบำเพ็ญภาวนา มีสายสินโยงจากมือท่านลงสู่บ่อน้ำมนต์ด้านหน้า ภายในค่อนข้างมืด มีแสงสว่างจากหลอดไฟส่องเป็นบางจุดเท่านั้น การถ่ายรูปในที่มีแสงน้อยขนาดนี้จำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องให้กว้าง และปรับความเร็วให้ช้า และเนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวเอาขาตั้งกล้องมาทำให้รู้สึกกลัวว่าภาพที่ออกมาจะสั่น ทั้งกลั้นใจถ่ายก็แล้วภาวนาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็แล้ว กว่าจะได้ภาพมาอย่างที่เห็น เล่นเอาเกร็งตระคิวกินไปเหมือนกัน แต่ก็ถือได้ว่าคุ้มมากเหลือเกิน เมื่อปรายตาลงที่ก้นบ่อ จะเห็นตัวอักษรบาลี-สันสกฤตเป็นคาถาอยู่ นอกจากเสียงเทปสวดพระคาถาแล้ว จะหาเสียอื่นแทรกเป็นไม่มี เมื่อมองไปโดยรอบห้อง ผนังถูกจัดแต่งให้โค้งเว้า เรียกได้ว่าที่เป็นเหลี่ยมเป็นมุมหาได้น้อยมาก ผนังถูกจัดทำเป็นชั้นวางขวดน้ำมนต์รายเรียงอย่างสวยงาม ได้ทราบมาจากคนที่ดูแลภายในอาคารนี้อีกว่า "น้ำมนต์ที่อยู่ภายในห้องนี้เป็นน้ำมนต์ที่ได้ผ่านพิธีร้อยแปดวัด จากเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้อัญเชิญบทสวดพระคาถาชินบัญชรลงเป็นมงคลแก่น้ำมนต์ในที่นี้ทุกวัน" พอได้ฟังอย่างนั้นเล่นเอาเราหูผึ่ง หวังใจเล็กๆว่าอยากได้เอาไปให้คุณอา ซึ่งตอนนั้นยังป่วยอยู่ได้เป็นมงคล อดใจไม่สอบถามไม่ได้ว่า"ทำอย่างไรถึงจะได้มาบ้าง" ซึ่งคำตอบทำให้เรารู้สึกดีใจ,อิ่มใจ และมีความสุข ผู้ดูแลสถานที่แจ้งว่า "ทางวัดไม่คิดค่าใช้จ่าย แล้วแต่ทำบุญ และสามารถรับน้ำมนต์ได้จากที่จำหน่ายด้านนอกอาคาร" จากนั้นได้สังเกตโดยรอบน้ำมนต์ที่อยู่ภายในห้องนี้ได้รับการบรรจุในขวดแก้วทรงสวย อย่างน้ำปรุงมีฝาแก้วยอดแหลมปิด ถึงตรงนี้นึกเสียใจที่ไม่ได้ทำการบันทึกภาพไว้...้ กิเลสพวยพุ่งความต้องการเป็นเจ้าของเข้าครอบงำและได้รับคำตอบว่า "ปัจจุบันขวดแก้วที่บรรจุน้ำมนต์ไม่ได้จัดทำขึ้นแล้ว มีเพียงในอาคารหลังนี้เท่านั้น เพราะตอนที่ทำครั้งแรก การเก็บรักษาทำได้ยาก เพราะมีแมวเข้ามาเดินชนจนเกิดความเสียหายแตกหัก จึงเปลี่ยนจากที่เป็นขวดแก้วมาเป็นพลาสติก" ตรงนี้รู้สึกเสียดายอย่างมาก ขนาดตื้อขอซื้อในราคาเท่าไหร่ก็ได้ยังได้รับคำปฏิเสธ และนั้นคือบทสรุปว่าต้องทำใจละวาง...

นอกจากบรรจุภัณฑ์ที่ดูมีคุณค่าโดยรอบแล้ว ผู้ศรัทธาในบทพระคาถาต่างเข้ามานั่งบำเพ็ญภาวนาบ้าง ทำสมาธิบ้างอยู่อย่างเงียบๆและสำรวมโดยรอบ... หลังจากเมื่อได้ทำการสักการะรูปเหมือนขององค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรสี กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เดินออกมานอกอาคาร หาทางเดินไปสักการะองค์พระพุทธที่มีขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดอยู่ในส่วนที่สามของวัด ขณะที่เดินไปนั้นพบต้นไม้ใหญ่หน้าองค์พระอุโบสถ ออกดอกสวยสะพรั่ง เราเองไม่เคยเห็นดอกไม้ชนิดนี้มาก่อน หันไปหาผู้ที่จะมีข้อมูลบ้าง ช่วงนั้นก็ไม่มีใครให้สอบถาม เป็นจนด้วยปัญญา แต่ก็อดเก็บภาพมาไว้ไม่ได้

หน้าบรรพ์พระอุโบสถ ถูกตกแต่งอย่างสวยงามด้วยกระจกสี และปูนปั้นรูปลอยของพระนารายณ์ทรงครุฑ มีส่วนที่เขียนเป็นอักษรประดิษฐ์จากกระจกสีอ่านได้ความว่า "พระอุโบสถสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)"

โดยรอบองค์พระอุโบสถ ประกอบไปด้วยใบเสมาโดยรอบ มีฐานปั้นรูปลอยครุฑอันเชิญรอบฐาน ส่วนฐาน, กำแพงแก้ว และเสาขององค์พระอุโบสถตกแต่งด้วยหินอ่อน ส่วนตัวองค์อุโบสถเองประดับด้วยหินเกรนิตสีเทา 

ประตูและหน้าต่างรอบองค์พระอุโบสถ ลงลักปิดทองประดับกระจกสี บานประตู, หน้าต่างแกะสลักรูปพุ่มไม้เลื้อยนูนสูง ลงลักปิดทองทั้งบาน

เมื่อเดินต่อจากองค์พระอุโบสถต่อไปเล็กน้อย ก็จะถึงลานสนามหญ้ากว้างโล่งพอสมควร ด้านหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระปฏิมากรรม องค์สูงใหญ่ หรือที่ขานกันว่า"หลวงพ่อโต"นั้นเอง ขนาดขององค์สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ได้มีการริเริ่มก่อสร้างโดย" เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรสี " เมื่อพุทธศักราช 2410

องค์เป็นปางพระยืน หากก่อสร้างได้เพียงครึ่งองค์ ต่อมา" พระครูสังฆบริบาล (แดง) "ได้ทำการสร้างต่ออีกแต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จวบจนพระอิทรสมาจาร (เงิน) อนุทสโร ได้ร่วมกับ พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติสาลิกร) ก่อสร้างต่อจนสำเร็จในปีพ.ศ. 2470

ต่อมาองค์พระเกิดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นาย เพทาย อมาตยกุล เป็นประธานร่วมกับคณะกรรมการและพุทธบริษัทได้ร่วมกัน ปฏิสังขรณ์ใหม่จนแล้วเสร็จสวยงามเมื่อ พ.ศ.2507

Back To Album